CANSLIM สูตรเด็ดหาหุ้น Super Stock
วิลเลี่ยม โอนิล (William O’Neil) เซียนหุ้นเจ้าของหนังสือ How to Make Money in Stocks ได้ทำการศึกษาค้นคว้าลักษณะเด่นที่หุ้น Super Stock หรือหุ้นสุดยอดมักจะมีเหมือนๆกัน โดยสรุปออกมาเป็นแนวคิดพื้นฐานที่เรียกว่า CANSLIM
CANSLIM ประกอบไปด้วยหลักในการเลือกหุ้น 7 ประการ ซึ่งจุดประสงค์ของมันคือเอาไว้ใช้หาหุ้นที่มีแววว่าจะเป็นหุ้น Super Stock ในอนาคต หรือหุ้นโตเร็วที่มีโอกาสกำไรโตขึ้นไปได้อีกหลายเท่า
หลัก 7 ประการของ CANSLIM ประกอบด้วย
C = Current Earnings Per Share
ดูกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของไตรมาสปัจจุบัน ควรจะกำไรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ยิ่งเพิ่มมากเป็นระดับ 100% ยิ่งดี และถ้ากำไรเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วด้วยก็ยิ่งเป็นสัญญาณบวกที่ดี
A = Annual Earnings
ดูกำไรสุทธิต่อหุ้นของปีล่าสุด (EPS) ควรจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างน้อย 25% หรือมากกว่า (ควรดูย้อนหลังสามปี) ตรวจสอบบทวิเคราะห์ของโบรคเกอร์ต่างๆด้วยว่าคาดการณ์กำไรสุทธิในปีถัดไปอย่างไร กิจการยังกำไรมากกว่าเดิมอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ให้ดู ROE ประกอบด้วย ซึ่งควรจะอยู่ในระดับ 17% ขึ้นไป
N = New Product or Service
บริษัทมีไอเดียใหม่ๆ หรือออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ช่วยเร่งการเติบโตของกำไรให้บริษัท (คิดถึงตอนที่บริษัทแอปเปิ้ลผลิตไอพอด หรือ ไอโฟน ช่วงแรกๆ) หรือมีแผนการดำเนินงานที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้กำไรต่อหน่วยมากขึ้นเนื่องจากค่าใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นสามารถทำ New High ได้ เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นตัวผลักดันราคาหุ้นที่ดี ทั้งนี้ควรซื้อหุ้นที่มีราคาอยู่ในช่วง Up Trend ชัดเจน วิลเลี่ยม โอนีล กล่าวว่า “หุ้นที่ดูเหมือนราคาแพงและมีความเสี่ยงสูง บ่อยครั้งที่ราคาหุ้นมักจะขึ้นไปได้อีก ส่วนหุ้นที่ดูเหมือนถูก ราคาก็มักจะลงไปได้อีกเช่นกัน” ซึ่งสรุปได้ว่าหุ้นของกิจการที่ดีราคาหุ้นก็จะโตไปตามกำไรที่เพิ่มขึ้น ไม่มีใครอยากขายให้ถูกๆนั่นเอง
S = Supply and Demand
หุ้นที่มีผู้บริหารถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และมีปริมาณหุ้นเหลือให้เทรดในตลาดไม่เยอะ เป็นหุ้นที่น่าสนใจ ถ้ามีตัวเลือกที่น่าสนใจสองบริษัทและทุกอย่างดีเท่ากัน ให้เลือกหุ้นของบริษัทที่เล็กกว่าและมีจำนวนหุ้นน้อยกว่า
L = Leader or Laggard
เลือกหุ้นที่เป็น “ผู้นำ” ในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ อย่าซื้อหุ้นเพียงเพราะเห็นว่าราคาถูก เนื่องจากหุ้นที่มีราคาถูกมันอาจจะมีเหตุผลที่ว่ากิจการกำลังย่ำแย่ก็ได้
I = Institutional Sponsorship
ถ้าเป็นไปได้ให้มองหาหุ้นที่เพิ่งเริ่มมีสถาบันการเงินหรือกองทุนเข้าถือ แต่ให้ระวังไม่ควรเข้าซื้อหุ้นถ้ามีจำนวนสถาบันการเงินหรือกองทุนอยู่มากเกินไป (จากประสบการณ์ของผู้เขียนคิดว่าถ้าเราพบหุ้นของกิจการที่ดีถึงแม้จะไม่มีสถาบันหรือกองทุนติดโผรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่เลย ราคาหุ้นตัวนั้นก็สามารถขึ้นไปสูงได้เหมือนกัน)
M = Market indexes
ควรจะซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น โดยดูพวกดัชนีต่างๆประกอบด้วย ไม่ควรฝืนเล่นตอนตลาดขาลงเนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่เกือบทั้งตลาดมักจะราคาตกตอนช่วงตลาดขาลง
สรุปแล้วหลักการ CANSLIM นี้เป็นหลักการที่น่าสนใจ ไม่ใช่หลักในการซื้อถูกแล้วขายแพง แต่เป็นการซื้อแพงแล้วขายแพงกว่า และเน้น focus ไปที่การเลือกหุ้นแบบ Growth Stock เป็นหลัก ทั้งนี้ วิลเลี่ยม โอนีล ได้แนะนำอีกว่า ควรจะมีการตั้ง Cut Loss ไว้ที่ราวๆ 7% ด้วย โดยถ้าคุณซื้อหุ้นแล้วราคาลงมา 7% คุณควรจะตัดใจขายทันที ใครสนใจหลักการของ วิลเลี่ยม โอนีล ลองไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ How to Make Money in Stocks