การลงทุนการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

P/E Ratio คืออะไร สำคัญต่อการเลือกหุ้นเพื่อลงทุนอย่างไร

หุ้นถูกหรือแพง เราจะรู้ได้อย่างไร? หุ้นของบริษัทที่ขายราคาหุ้นละ 100 บาท แพงกว่าหุ้นของบริษัทที่ขายราคาหุ้นละ 1 บาทจริงหรือ? P/E Ratio เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่บอกเราได้ว่าหุ้นที่ซื้อมานั้นมีราคาถูกหรือแพงเมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

มือใหม่บางคนนิยมซื้อหุ้นของบริษัทที่มีราคาหุ้นละไม่กี่บาทเพราะคิดว่าเป็นหุ้นที่ราคาถูก เช่น สมมติว่าเรามีเงินทุน 100,000 บาท  หุ้นบริษัท A มีราคาหุ้นละ 1 บาท ถ้าเราซื้อหุ้นด้วยเงินทุนทั้งหมดที่เรามี ก็จะซื้อหุ้นของบริษัท A ได้จำนวน 100,000 หุ้น กับอีกเคส หุ้นบริษัท B มีราคาหุ้นละ 100 บาท ถ้าเราซื้อก็จะซื้อได้สูงสุดจำนวน 1,000 หุ้นเท่านั้น หลายคนคิดว่ายิ่งซื้อหุ้นได้จำนวนหุ้นมากๆแปลว่าหุ้นตัวนั้นถูก ซึ่งขอบอกว่าคุณจะคิดแบบนี้ไม่ได้ เนื่องจากราคาหุ้นเป็นตัวเลขที่กำหนดขึ้นมาโดยวิธีการคำนวนทางการเงินรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการกำหนดราคาหุ้นเวลาเข้าเทรดครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์นั้นทางบริษัทจะกำหนดให้เป็นหลักหน่วย หลักสิบ หรือหลักร้อยก็ย่อมได้ และมันก็ไม่ได้บ่งบอกว่ากิจการของบริษัทนั้นๆ มีค่าคู่ควรกับราคาหุ้นที่กำหนดหรือไม่

แล้วอย่างงี้เราจะดูยังไงล่ะ ว่าหุ้นตัวนี้ถูกหรือแพง น่าซื้อไหม?

สำหรับผู้ที่เล่นหุ้นมาซักพักคงพอจะตอบได้ว่าให้ดู P/E Ratio ซึ่งบางตำราจะแนะนำให้เลือกหุ้นที่มีค่า P/E ประมาณไม่เกิน 10 เท่า ยิ่งต่ำเท่าไหร่ยิ่งถือว่าถูก แต่เอาเข้าจริงมันมีข้อยกเว้นอยู่ ซึ่งจะอธิบายต่อไป

คุณสามารถหาดูค่า P/E ที่คำนวนมาให้สำเร็จรูปได้จากเว็บ set.or.th หรืออาจจะดูจากโปรแกรมเทรดหุ้นต่างๆ เช่น efin ​ซึ่งสามารถดูค่า P/E ย้อนหลังได้หลายๆปีด้วย รูปด้านล่างแสดงตัวอย่างกราฟราคาและค่า P/E ของหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์โดยใช้โปรแกรม efin Stock Pick Up เส้นสีขาวแสดงค่า P/E

pe-sample
P/E Ratio คืออะไรและมีวิธีคำนวนอย่างไร?

P/E Ratio ย่อมาจาก Price to Earnings Ratio (ราคาปิดต่อกำไรสุทธิ) วิธีคิดค่า P/E ของบริษัทก็คือ นำราคาหุ้นปัจจุบันมาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้นในรอบ 1 ปี (หรือใช้ 4 ไตรมาสล่าสุด) เช่นสมมติว่าบริษัท A มีกำไรต่อหุ้น 0.10 บาทในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาและราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายกันที่ราคา 1 บาท ก็เอาราคาหุ้น 1 บาทเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วย 0.10 ก็จะได้ P/E เท่ากับ 10 หรืออีกกรณีหนึ่ง บริษัท B มีกำไรต่อหุ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเท่ากับ 20 บาท และราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายกันที่ราคา 100 บาท ก็เท่ากับว่ามี P/E 5 เท่า (​100 หาร 20) ฉะนั้นถ้ามองกันที่ P/E ก็จะเห็นว่าหุ้น B ถูกว่า เพราะราคาหุ้นซื้อขายกันเพียงที่ 5 เท่าของกำไร ในขณะที่ราคาของหุ้น ABC ซื้อขายกันที่ 10 เท่าของกำไร ลองคิดดูว่าถ้าเราซื้อกิจการของบริษัท B และบริษัททำกำไรได้ทุกปีๆละ 20 บาทเท่ากันติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ก็เท่ากับว่าเราจะได้ทุนคืนภายใน 5 ปี ในขณะที่บริษัท ABC ต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะคืนทุน แต่ในสถานการณ์จริง หลายๆบริษัทอาจจะไม่ได้มีกำไรที่ใกล้เคียงกันทุกปี บางบริษัทอาจกำไรลดในบางปี หรือบางบริษัทอาจจะกำไรโตขึ้นสม่ำเสมอทุกปีก็เป็นได้ (แต่ถ้าปีไหนผลการดำเนินงานขาดทุนจะไม่สามารถคำนวนหาค่า P/E ได้ ซึ่งบางเว็บจะขึ้นค่า P/E เป็น 0 หรือ N.A.) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริษัทนั้นๆด้วยว่าอยู่ในอุตสาหกรรมประเภทไหน เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเติบโตหรือเป็นอุตสาหกรรมแบบตะวันตกดิน ฉะนั้นเวลาเลือกหุ้นเรายังต้องดูปัจจัยด้านอื่นๆประกอบด้วย และการจะเปรียบเทียบมูลค่าของหุ้นสองตัวว่าตัวไหนถูกว่าควรจะเทียบจากหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ที่อธิบายมาข้างต้นเป็นการคำนวนค่า P/E จากผลกำไรในอดีตที่ผ่านมาแล้วหรือเรียกว่า Trailing P/E แต่ยังมีการคำนวนอีกแบบหนึ่งโดยการนำกำไรต่อหุ้นที่ได้จากการคาดการณ์ในอนาคตมาคำนวนเรียกว่า Forward P/E เช่นสมมติว่าผู้บริหารบริษัท B ได้ให้สัมภาษณ์ ณ. วันที่ 30 ธค. 2564 ว่ากำไรของบริษัทในปีหน้าทั้งปี 2565 น่าจะโตมากกว่าปี 2564 ประมาณ 10% เนื่องจาก ทางบริษัทได้มีการขยายสาขาไปต่างประเทศอีกหลายประเทศและจะเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเข้ามาในปีหน้า ถ้าปี 2564 ที่ผ่านมาบริษัทกำไร 20 บาทต่อหุ้น ปี 2565 กำไรก็น่าจะเพิ่มเป็น 22 บาทต่อหุ้น (ถ้ากำไรปี 2565 เพิ่มขึ้น 10%) สมมติตอนนี้ราคาหุ้นซื้อขายกันที่ 100 บาท ถ้าคิด Foward P/E ก็จะได้ 4.54 (100 หารด้วย 22) แต่อย่างไรก็ตามการคาดการณ์หรือวิเคราะห์กำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะเกิดการคลาดเคลื่อนได้ ฉะนั้นถ้าจะใช้ Foward P/E ควรใช้กับหุ้นที่มีการเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอจะดีกว่า หรือควรดูว่าบริษัทมี story ดีๆ หรือแผนงานที่มารองรับการเติบโตตามที่คาดการณ์ได้จริงหรือไม่ และอาจต้องศึกษาจากบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายๆสำนักประกอบด้วย

SLOWRICH

Slowrich ทุกเรื่องธุรกิจ สร้างอาชีพ การลงทุน

Related Articles

Back to top button

Adblock Detected

Please consider supporting us by disabling your ad blocker