การลงทุนการวิเคราะห์ทางเทคนิคการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

Risk/Reward Ratio “ผลตอบแทน vs ความเสี่ยง”

เวลาที่จะซื้อหุ้นซักตัวคุณควรวิเคราะห์ก่อนเสมอว่าโอกาสที่จะได้กำไรมีมากกว่าขาดทุนแค่ไหน และสัดส่วนของกำไรที่ได้นั้นคุ้มค่าพอหรือไม่ที่เราจะเข้าไปเสี่ยง ถ้าได้ไม่คุ้มเสียเราก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง โดยเราจะต้องวิเคราะห์ Risk/Reward Ratio ทุกครั้งก่อนเทรดเสมอ จุดประสงค์ก็เพื่อให้แน่ใจว่าทุกการเทรดเราจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า (ได้กำไรมาก แต่ขาดทุนน้อย) เทรดอย่างเป็นระบบและเป็นผลดีต่อพอร์ทในระยะยาว

หลายคนอาจจะเคยเทรดหุ้นได้กำไรบ่อยครั้งกว่าขาดทุน แต่กลับพบว่าผลตอบแทนโดยรวมยังคงเป็นลบ นั่นอาจเป็นเพราะว่าตอนที่คุณเลือกหุ้นถูกตัวคุณกลับทำกำไรได้น้อยหรือขายเร็วเกินไป แต่ตอนที่คุณเลือกหุ้นผิดตัวคุณกลับขายช้าไปทำให้ต้องขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้นถึงคุณจะกำไรหลายครั้งก็ไม่สามารถชดเชยการขาดทุนได้หมด บทความนี้ทางเว็บของเราขอนำเสนอวิธีบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการวิเคราะห์ Risk/Reward Ratio

Risk/Reward Ratio คือ อัตราส่วนผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเทรดแต่ละครั้ง

Risk = ความเสี่ยงที่เราประเมินไว้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งก็คือผลขาดทุนจากการเทรด
Reward = กำไรหรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการเทรด

ตัวอย่าง

สมมติคุณซื้อหุ้นของบริษัท A ที่ราคา 100 บาท โดยเชื่อว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น A น่าจะอยู่ที่ราวๆ 120 บาทและราคาหุ้นน่าจะวิ่งไปถึงราคานี้ภายในสิ้นปี แต่อย่างไรก็ตามคุณได้กำหนดจุด stop loss ไว้ที่ 90 บาทเผื่อไว้ในกรณีที่หุ้นเกิดตกลงมาซึ่งคุณคิดว่าจะยอมขาดทุนได้ไม่เกิน 10 บาท ในกรณีนี้หมายถึงถ้าคุณวิเคราะห์ผิดคุณยอมเสียเงิน 10% แต่ถ้าคุณคิดถูกคุณจะได้กำไร 20% จะเห็นว่าสัดส่วนของกำไรที่ได้นั้นมากเป็น 2 เท่าของความเสี่ยง (กำไร 20 บาท ต่อขาดทุน 10 บาท) ซึ่งจะเท่ากับการเทรดครั้งนี้มี Risk/Reward Ratio อยู่ที่ 1:2 นั่นเอง

ด้วย Ratio ที่ 1:2 สมมติถ้าคุณเทรดหุ้นซัก 10 ครั้งแล้วทายผิดซะ 6 ครั้ง แต่ทายถูกเพียง 4 ครั้ง (ซึ่งถูกน้อยกว่าครึ่งซะอีก) ในที่สุดคุณก็ยังกำไรมากกว่าขาดทุนอยู่ดี โดยกำไรจะเท่ากับ 80 บาท ในขณะที่ขาดทุน 60 บาท

ปกติเรื่อง Risk/Reward Ratio นั้นจะมีการพูดถึงกันมากในแวดวงของนักเก็งกำไรโดยเฉพาะพวกที่เทรด Forex ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเข้าเทรดกันสั้นๆหลายๆรอบ แต่ทว่าเรื่อง Risk/Reward Ratio นี้ คนที่เป็นนักลงทุนในหุ้นก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เหมือนกันไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือยาวก็ตาม

ทีนี้เมื่อเราเข้าใจ concept ของ Risk/Reward Ratio แล้วปัญหาถัดไปก็คือ ทำยังไงเราถึงจะคาดการณ์ Reward ได้อย่างแม่นยำและทำยังไงถึงจะกำหนดค่า Risk ที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้กับการซื้อขายหุ้นของเรา? ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้พื้นฐานเฉพาะตนพอสมควร เราอาจจะคาดการณ์ Reward ของหุ้นโดยดูจากบทวิเคราะห์ผลประกอบการล่วงหน้าที่แต่ละโบร๊คเกอร์จัดทำไว้ประกอบการตัดสินใจ

ลองมาดูตัวอย่างคร่าวๆ แล้วกัน เช่นเมื่อต้นปี 2559 ราคาหุ้น PTTEP วิ่งอยู่ที่ราวๆ 50-60 บาท โบร๊คเกอร์หลายสำนักคาดการณ์ว่า PTTEP จะมีกำไรสุทธิปี 2559 ทั้งปีรวมแล้วเกิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่า turn around จากปี 2558 ที่ขาดทุนสุทธิกว่า 30,000 ล้านบาท ถ้าตอนต้นปี 2559 คุณได้วิเคราะห์ว่าราคาหุ้น PTTEP น่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ราคาน้ำมันโลกไม่น่าจะต่ำกว่านี้ได้อีก (ราคาน้ำมันโลก ณ. ตอนนั้นใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดเมื่อเทียบกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ตอนปี 2008-2009 เลยทีเดียว) คุณก็อาจจะได้ซื้อ PTTEP ที่ราคา 60 บาท และคิดว่าราคาหุ้นน่าจะวิ่งไปถึงอย่างน้อยที่ 90 บาทภายในสิ้นปี 2559 แต่ถ้าเกิดไม่เป็นอย่างที่หวังราคาหุ้นตกลง คุณตัดสินใจว่าจะยอมขายขาดทุนทันทีถ้าราคาลงมาที่ 50 บาท คุณคิดว่าจะรับความเสี่ยงโดยยอมขาดทุนได้ 10 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ซึ่งจุดนี้ก็คล้ายๆการตั้งจุด stop loss นั่นเอง (บางคนอาจจะใช้วิธีตัดสินใจกำหนุดจุดขายถ้าหุ้นมีราคาหลุดแนวรับเดิม หรือขายถ้าหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแต่โดยรวมคือคุณจะยอมเสียเงินได้แค่จำนวนที่กำหนดเท่านั้นไม่ยอมเสียมากไปกว่านี้)

จากตัวอย่างที่กล่าวมาถ้าเราเข้าเทรดหุ้น PTTEP ก็จะคำนวน Risk/Reward Ratio ได้เท่ากับ 1:3 (ขาดทุน 10 บาท ต่อ กำไร 30 บาท) ซึ่งถือว่าคุ้มค่าที่จะลองเทรดมากทีเดียว เพราะว่ามีโอกาสกำไรสูงแต่ความเสี่ยงต่ำแถมขนาดของกำไรที่ได้มีสัดส่วนสูงกว่าการขาดทุนมาก แต่ในทางกลับกันถ้าเกิดเงื่อนไขทุกอย่างตรงข้ามกับที่กล่าวไว้ คุณก็ไม่ควรเข้าไปเทรดแต่แรกเพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย เช่น ถ้าโบร๊คเกอร์ทำนายว่าบริษัทจะขาดทุนต่อเนื่อง หรือถ้าคุณเห็นกราฟราคาน้ำมันโลกยังลงไม่หยุดยังไม่เห็นจุดกลับตัวทางเทคนิค แบบนี้เราก็ไม่ควรเข้าไปเสี่ยงแต่อย่างใด

โดยรวมๆแล้วปัจจัยที่เราน่าจะให้น้ำหนักมากต่อการคำนวน Risk และ Reward ก็จะเป็นปัจจัยด้านคุณภาพของกิจการ ผลกำไรที่บริษัทน่าจะทำได้ รวมถึงปัจจัยทางเทคนิคเช่น trend ของกราฟ เป็นต้น พูดง่ายๆว่าเราสามารถนำปัจจัยทั้งทาง Fundamental และ Technical Analysis มาพิจารณาประกอบได้  และขนาดของ Risk/Reward Ratio ควรจะเป็น 1:2 ขึ้นไปเป็นอย่างน้อยถึงจะน่าเข้าเทรด

SLOWRICH

Slowrich ทุกเรื่องธุรกิจ สร้างอาชีพ การลงทุน

Related Articles

Back to top button

Adblock Detected

Please consider supporting us by disabling your ad blocker