แม้จะเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน แต่กว่าที่จะมีวันนี้ได้ TikTok (ติ๊กต็อก) แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นนั้นต้องผ่านด่านทดสอบมาอย่างหนักหน่วง ทั้งการถูกตรวจสอบและกีดกันอย่างหนักในยุค ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยกข้ออ้างในเรื่องของความมั่นคง รวมถึงคู่แข่งรายใหญ่ที่ลงสู่สนามการแข่งขันนี้
แต่ TikTok ก็ยังสามารถฟันผ่าอุปสรรคต่าง ๆ ครองอันดับ 1 ได้อย่างเหนียวแน่น เหนือคู่แข่งสำคัญอย่าง Shorts บน YouTube จาก Google และ Reels ของ Meta หรือ Facebook ที่เรารู้จักดี คู่แข่งรายล่าสุดที่เข้าสู่ตลาดวิดีโอสั้นอันเป็นผลมาจากความสำเร็จอย่างสูงของทาง TikTok
TikTok หรือ Douyin ชื่อในประเทศจีน ถูกสร้างโดยบริษัท ไบต์แดนซ์ (ByteDance) เปิดตัวครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อปี 2016 และใช้เวลาเพียง 1 ปี สามารถมีผู้ใช้งานครบ 100 ล้านบัญชีในประเทศจีน และออกเวอร์ชั่น Global ในปี 2017 ตัวแพลตฟอร์มมี่รายได้หลักมาจากการขายโฆษณาและโปรโมทสินค้า
โดยจุดเด่นของ “แอพติ๊กต็อก” คือการเล่นวิดีโอสั้นในแนวตั้ง ความยาวคลิปไม่เกิน 15 วินาทีในยุคแรก ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์สำหรับผู้ชมที่ต้องการความรวดเร็วในการรับชมเนื่องจากคอนเท้นต์ในปัจจุบันที่มีให้เลือกชมเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างคลิปยอดนิยมบนแพลตฟอร์ม TikTok ที่อัพโหลดโดยผู้ใช้ในชื่อ @zachking มีคลิปที่มีผู้เข้าชมสูงถึง 2.1 พันล้านครั้ง
ก่อนค่อย ๆ ปรับความยาวของวิดีโอจนล่าสุด TikTok รองรับวิดีโอความยาวขนาด 10 นาที เพิ่มช่องทางให้ Creator สามารถสร้างเนื้อหาได้หลากหลายโดยไม่ติดข้อจำกัดของเรื่องระยะเวลาอีกต่อไป
ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น ติ๊กต๊อก (TikTok) รองรับสองแพลตฟอร์มหลักทั้ง Android และ iOS โดยในปี 2022 ยอดดาวน์โหลดของแอพพลิเคชั่นทั้ง 2 แพลตฟอร์มรวมกันเกิน 3.5 พันล้านครั้ง ถือเป็นแอพพลิเคชั่นลำดับที่ 5 ที่สามารถทำได้ และจากรายงานล่าสุดของ sensortower.com ใน Q2 ปี 2022 TikTok ก็ยังครองอันดับ 1 แอพที่มีคนโหลดมากที่สุด ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมเป็นอย่างดี
ถึงแม้ TikTok จะมียอดดาวน์โหลดเกิน 3.5 พันล้านครั้งและ Monthly Active Users ต่อเดือนเกิน 1 พันล้านบัญชีต่อเดือน ซึ่งถือเป็นอันดับ 4 รองจากแพลตฟอร์มโซเชียลออนไลน์ อื่น คือ
1. Facebook 2.9 พันล้านบัญชี
2. YouTube 2.2 พันล้านบัญชี
3. Instagram 1.4 พันล้านบัญชี
แต่ตัวแอพ TikTok เองกลับยังไม่มีช่องทางการสร้างรายได้ที่ชัดเจนแบบทั้ง 3 รายแรกที่กล่าวมาสำหรับ Creator ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทาง TikTok เร่งเปิดช่องทางสร้างรายได้ให้กับเหล่า Video Creator ทั้ง อินฟลูเอนเซอร์ คนดัง ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น อันเป็นหัวใจหลักของแพลตฟอร์มในการผลิตเนื้อหาและดึงดูดผู้ใช้ให้เข้ามาใช้แพลตฟอร์ม และสนับสนุนต้นทุนในการสร้างวิดีโอต่อไป
วันนี้เราจะพามาดูรูปแบบในการหารายได้สำหรับ Video Creator จากแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง TikTok ว่ามีช่องทางไหนกันบ้าง
1. ไลฟ์สดขายสินค้า
เช่นเดียวกับหลายแพลตฟอร์มที่เจ้าของช่องหรือ creator สามารถที่จะนำสินค้าของตัวเองมาจำหน่ายผ่านการไลฟ์สด เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดเหมาะกับมือใหม่ที่อาจจะยังไม่มีผู้ติดตามมากนัดแต่มีสินค้าที่พร้อมจำหน่ายอยู่แล้ว
2. Affiliate/Refferall ลิ้งค์
จะเป็นในรูปแบบของการแปะลิ้งค์เพื่อให้ผู้ชมกดลิ้งจากทาง TikToker และไปซื้อสินค้าหรือบริการผ่านลิ้งค์นั้น ๆ หรือการนำผู้เข้าไปชมไปสมัครเป็นสมาชิกยังเว็บหรือเพจปลายทาง ซึ่งทาง TikToker จะได้รับรายได้ในรูปแบบของค่าคอมมิชชั่น ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย
3. โปรโมทสินค้า / Tie-in
คือการสอดแทรกสินค้าลงในคลิป โดยจะมีการแทรกการโปรโมทสินค้าลงในคลิปเอง หรือในบางครั้งจะเป็นในลักษณะการ Tie-in ตัวสินค้าหรือบริการลงในคลิปของ Creator รายได้ขึ้นอยู่กับกับการตกลง
4. สปอนเซอร์
อาจจะเป็นการติดต่อโดยตรงจากสินค้าหรือผ่านทางเอเจนซีในรูปแบบของการรีวิว หรือ แนะนำตัวสินค้า ซึ่งรายได้จะเป็นในรูปแบบของการต่อรองของทางผู้ลงและ TikToker (ผู้ใช้ TikTok) ซึ่งรายได้ขึ้นอยู่กับจำนวน ผู้ติดตาม หรือ Followers และความเป็นที่นิยมของเจ้าของช่องเองประกอบ
5. Gift / Coins ได้รับจาก Streaming
ผู้ชมสามารถซื้อ Virtual Gift หรือ การซื้อของขวัญ เพื่อส่งเป็นรางวัลให้กับเจ้าของคลิปวิดีโอใน TikTok โดยมีเงื่อนไขว่าทางช่องจะต้องมี เกิน 1,000 Followers ขึ้นไปกรณีไลฟ์สด และ 100,000 Followers สำหรับการส่ง Gift ให้กับวิดีโอนั้น ๆ
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับวิธีการหาเงินบท TikTok สำหรับ Creator คนไหนที่กำลังมองหาช่องทางหารายได้ผ่านวิดีโอนอกเหนือจากแพลตฟอร์มหลักอย่าง Youtube หรือ Facebook ซึ่งถือเป็นการกระจายการหารายได้ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งมากจนเกินไป เผื่อวันหนึ่งอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นก็เป็นได้ 🙂