เส้นค่าเฉลี่ย Moving Average
เส้นค่าเฉลี่ย Moving Average เป็น indicator อีกตัวที่ใช้งานง่ายจึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ประโยชน์ของมันมีไว้บอกเทรนและแนวโน้มของราคาหุ้น รวมถึงช่วยกรองราคาให้ smooth ขึ้น ลดความผันผวนของการสวิงขึ้นลงของราคาในกราฟโดยแสดงค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นทำให้เราวิเคราะห์แนวโน้มของหุ้นได้สะดวกขึ้น
เส้นค่าเฉลี่ยใช้งานอย่างไร
ส้นค่าเฉลี่ยมีหลายประเภทแต่ที่นิยมใช้กันก็คือ
1) SMA หรือ Simple Moving Average ซึ่งคำนวนจากการนำเอาราคาในแต่ละวันก่อนหน้ามาบวกกันและหารด้วยจำนวนวันที่ต้องการเฉลี่ย วิธีนี้จะให้นำ้หนักราคาในอดีตกับปัจจุบันเท่าๆกัน
2) EMA หรือ Exponential Moving Average คำนวนจากราคาในแต่ละวันก่อนหน้าแต่จะให้น้ำหนักกับราคาสุดท้ายในปัจจุบันมากที่สุด (ใครอยากรู้วิธีคำนวนแบบละเอียดลองค้นใน google ดูแล้วกัน
แต่ไม่ว่าจะแบบใดก็ตามวิธีการใช้งานก็จะคล้ายๆกัน โดยให้สังเกตว่าถ้าหุ้นเป็นขาขึ้นราคาหุ้นมักจะวิ่งอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย ถ้าหุ้นเป็นขาลงราคาก็มักจะวิ่งอยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย และเวลาใช้งานเราก็แค่กำหนดจำนวนวันที่ต้องการให้คำนวนเส้นค่าเฉลี่ย เช่นสมมติเรากำหนดว่า 25 วัน โปรแกรมก็จะแสดงราคาเฉลี่ย 25 วันของหุ้นซึ่งโปรแกรมจะ plot เป็นกราฟเส้นให้เห็น มาดูรูปตัวอย่างกัน
จากรูปด้านบนแสดงราคาของหุ้น ADVANC ช่วงปี 54 ใช้ time frame แบบ day เส้นสีฟ้าคือเส้นค่าเฉลี่ยแบบ SMA 25 วัน สังเกตว่าบ่อยครั้งราคาหุ้นจะอยู่เหนือเส้นสีฟ้านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหุ้นตัวนี้เป็นขาขึ้นแทบจะทั้งปีเลยทีเดียว และเราสามารถใช้เส้นค่าเฉลี่ยนี้เป็นแนวรับได้ด้วย (คล้ายๆ trend line)
แต่ในทางกลับกัน รูปด้านบน แสดงราคาของ ADVANC ช่วงกลางปี 56 ถึงสิ้นปี 56 ซึ่งราคาวิ่งอยู่ข้างล่างเส้น SMA 25 ซะเป็นส่วนใหญ่ ก็แสดงว่าหุ้นเป็นขาลง ทั้งนี้เราสามารถมองเส้นค่าเฉลี่ยที่เห็นเหนือราคานี้เป็นเหมือนแนวต้านได้ด้วย ซึ่งก็จะทำให้เราระวังมัดระวังไม่เสี่ยงเข้าไปเทรดในแนวโน้มที่เป็นขาลง
เราจะใช้เส้นค่าเฉลี่ยกี่วันดี?
ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนักลงทุนระยะยาว หรือระยะสั้น ถ้าระยะสั้นอาจะใช้ 5 หรือ 10 วัน ระยะกลาง 50 หรือ 75 วัน ส่วนนักลงทุนระยะยาวก็ 200 วัน จำนวนวันไม่จำเป็นต้องตามนี้เป๊ะๆ เราอาจจะลองปรับค่าให้เหมาะสมกับหุ้นเป็นรายตัวก็ได้ ถ้า plot เป็นเส้นค่าเฉลี่ยแล้วเห็นเทรนของหุ้นชัดเจนขึ้นก็ถือว่าใช้ได้ แต่ในกรณีที่ตลาดหุ้นเป็น sideway เส้นค่าเฉลี่ยอาจจะใช้ไม่ได้ผล เพราะราคาหุ้นอาจจะวิ่งทะลุขึ้นหรือลงเส้นค่าเฉลี่ยบ่อยๆ ให้ลองปรับ time frame ของกราฟเป็นช่วงเวลาอื่นดูอาจจะเป็น time frame ที่เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นแล้วแต่ว่าเล่นสั้นหรือยาว
นอกจากนี้เรายังสามารถใช้เส้นค่าเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งเส้นร่วมกันเพื่อหาจุดซื้อหรือจุดขายได้ด้วย โดยเส้นหนึ่งอาจเป็นเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นอีกเส้นเป็นระยะยาวและดูการตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยทั้งสอง (หรืออาจมีจำนวนเส้นมากกว่านั้นแต่ขอแนะนำว่าอย่าเกิน 3 เส้นไม่งั้นกราฟจะดูรกและทำให้สับสนเปล่าๆ) ถ้าเส้นระยะสั้นสามารถตัดเส้นระยะยาวขึ้นไปได้อาจจะเป็นขาขึ้น แต่ถ้าตัดลงก็อาจเป็นขาลง ลองดูรูปประกอบ
รูปด้านบนแสดงกราฟของหุ้น SPALI ช่วงกลางปี 51 ถึงกลางปี 52 ใช้ time frame แบบ day โดยลองใส่เส้นค่าเฉลี่ย SMA 25 (สีฟ้า) และ SMA 75 (สีชมพู) จากกราฟหุ้นเป็นขาลงมาเรื่อยๆถึงช่วงสิ้นปี 51 (สังเกตเส้นค่าเฉลี่ยทั้งสองเส้นชี้ลงต่อเนื่องเป็นส่วนใหญ่ โดยเส้นแทบจะไม่หักหัวขึ้นมาเลย) แต่ในที่สุดราคาก็ค่อยๆกลับขึ้นมาตอนต้นปี 52 และมีการตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยโดยเส้น SMA 25 ได้ตัดเส้น SMA 75 ขึ้นไปได้และราคาหุ้นก็เป็นขาขึ้นต่อเนื่องหลังจากนั้น (สังเกตเส้นค่าเฉลี่ยทั้งสองเส้นก็ชี้สูงต่อเนื่องเช่นกันโดยที่แทบจะไม่หักหัวลงไปเลย) โดยปกติถ้าเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นสามารถตัดเส้นระยะยาวขึ้นไปได้และราคาหุ้นอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยทั้งสองด้วยหุ้นตัวนั้นอาจสิ้นสุดขาลงและมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น (ถ้าตลาดมี trend ที่ชัดเจน) แต่ทั้งนี้เราควรดูปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วยเพื่อให้แน่ใจได้มากขึ้น
ข้อจำกัดและข้อแนะนำอื่นๆ เกี่ยวกับเส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average)
- ปกติการดูสัญญาณซื้อขายจากเส้นค่าเฉลี่ยจะใช้ไม่ค่อยได้ผลนักในช่วงตลาดหุ้น sideway
- เป็น indicator ที่ให้สัญญาณช้า ฉะนั้นจึงไม่ควรใช้เส้นค่าเฉลี่ยอย่างเดียวในการเทรด
- EMA จะให้สัญญาณที่เร็วกว่า SMA เพราะให้น้ำหนักกับราคาในปัจจุบันมากกว่าอดีต แต่ก็ไม่ใช่ว่า EMA จะแม่นยำกว่า SMA ฉะนั้นควรจะทำการศึกษาทดลองว่าหุ้นตัวไหนเหมาะกับ SMA หรือ EMA
- มือใหม่อาจเริ่มต้นจากการใส่เส้นค่าเฉลี่ยทีละเส้นก่อนใน time frame แบบ day ถ้าใครใส่ 3 เส้นลองเริ่มจาก 10 25 75