Return on Investment (ROI) คืออะไร
ในโลกของการทำธุรกิจและการลงทุน เรามีวิธีวัดผลตอบแทนของการลงทุนหลายวิธี ซึ่งวิธีที่เป็นที่นิยมและไม่ยุ่งยาก ก็คือการหาอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนที่เรียกว่า Return on Investment หรือ ROI นั่นเอง
วิธีการคำนวน Return on Investment (ROI)
เริ่มแรกให้เราหากำไรสุทธิก่อน
กำไรสุทธิ = รายได้ – ต้นทุน
โดย ROI = (กำไรสุทธิ/ต้นทุน) X 100
ปกติแล้ว ROI จะแสดงผลลัพธ์เป็นตัวเลขในรูปแบบเปอร์เซ็นต์
ค่า ROI > 0 คือ ลงทุนแล้วมีกำไร
ค่า ROI = 0 คือ ลงทุนแล้วเท่าทุน
ค่า ROI < 0 คือ ลงทุนแล้วขาดทุน
ตัวอย่างที่ 1
นาย A ขายเสื้อผ้าออนไลน์มีรายได้ทั้งหมด 100,000 บาท โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าอยู่ที่ 60,000 บาท และค่าโฆษณาอีก 20,000 บาท คิดเป็น ROI ได้ดังนี้
กำไรสุทธิ เท่ากับ 20,000 บาท (100,000 – 60,000 – 20,000)
ROI เท่ากับ 25% (20,000/80,000) x 100
ในกรณีนี้เท่ากับว่าการลงทุนของนาย A ให้ผลตอบเเทนกลับมา 25% ของเงินที่ลงทุน (นั่นคือลงทุน 80,000 บาท ได้กำไรมา 20,000 บาท) ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากทีเดียว
ตัวอย่างที่ 2
นาย B ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท start up แหน่งหนึ่ง เมื่อต้นปี 2563 ใช้เงินทั้งหมด 10,000 บาท และได้ขายหุ้นไปทั้งหมดในช่วงสิ้นปีเดียวกัน ได้ราคา 9,000 บาท คิดเป็น ROI ได้ดังนี้
กำไรสุทธิ เท่ากับ ติดลบ 1,000 บาท (9,000 – 10,000)
ROI เท่ากับ ติดลบ 10% (-1000/10,000) x 100
ในกรณีนี้เท่ากับว่าการลงทุนของนาย B กลับให้ผลตอบแทนติดลบ 10% ของเงินต้นที่ใช้ลงทุน อย่างงี้เท่ากับว่านาย B อยู่เฉยๆ จะดีกว่า
เราสามารถนำ ROI ไปใช้ในการเปรียบเทียบการลงทุนแต่ละแบบ ว่ามีอัตราผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่าหรือไม่ หรือในใช้ในการตัดสินใจที่จะดำเนินการลงทุนต่อไปในโปรเจคหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำกำไรได้ดี และเลิกลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า หรือค่า ROI น้อยจนถึงติดลบ
ROI มีข้อดีที่ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน แต่อย่างไรก็ตามการใช้ ROI ยังมีข้อจำกัดในบางกรณี เช่นถ้าเราจะทำการวัดผลของการขาย หรือเปรียบเทียบความสำเร็จของการลงทุนแต่ละแบบ ที่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการลงทุนนั้นด้วย การใช้ ROI เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งหมดได้ และอาจต้องหาตัวชี้วัดอื่นมาร่วมวิเคราะห์ด้วย ซึ่ง ROI ไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาที่ใช้ในการลงทุนร่วมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยต่างๆ